26 December 2006

Last Christmas

หนึ่งปีแล้วนับจากการเดินทางครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต กับการเดินทางที่เปลี่ยนหลายๆอย่างข้างใน กับความรู้สึกเติบโตครั้งสำคัญครั้งใหญ่ กลิ่นอายสถานที่ สีหน้าผู้คนที่สวยงาม รายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ ยังถูกจดจำไว้เป็นอย่างดี

คิดถึงขึ้นมาแล้วก็ยังนึกเสียดายสถานที่บางแห่งที่ถูกละเลยไป แม้จะนึกอยากย้อนรอยกลับไปเพิ่มรายละเอียดให้สมบูรณ์ แต่เรื่องราวในชีวิตได้พบเพียงหนึ่งครั้ง เก็บทุกอย่างที่เกิดขึ้นไว้ให้ดี ผมกล่าวย้ำเตือนตัวเองเป็นรอบที่เท่าไรแล้วไม่นึกอยากจะนับ

ถึงตอนนี้มีโอกาสได้เดินทางแบบเล็กๆกันอีกครั้ง แต่ช่องทางนั้นมิได้มีให้เลือกมาก จึงจำใจเลือกทางเร็วให้อึดอัดเล่น แวะเวียนมาที่สนามบินอีกครั้งแบบผิดนัดหมาย เลยต้องนั่งรอเวลาที่แลกมาด้วยเงินตราอันมิใช่ของตนเอง คิดถึงข้อนี้แล้วก็นับว่าเศร้าใจ นึกไปนึกมาก็ตลกดีที่โทษของการไม่ตรงต่อเวลา กลับเป็นเวลาที่ได้มาเพิ่มเติม ถึงได้มีโอกาสมาขีดๆเขียนๆอยู่ตรงนี้

เวลาอยู่ที่สนามบิน มักจะชวนให้นึกไปถึงหนังเรื่อง Love Actually หรือบางคนอาจนึกไปถึง The Terminal เสียแต่ว่าผมยังไม่ได้ดู แปลกดีที่ผมมักจะพลาดหนัง Tom Hanks ในช่วงหลังๆ ผิดกับหนัง Jack Black ที่ไม่ค่อยจะพลาด แต่เรื่องล่าอย่าง Tenacious D ถ้าไม่รักกันจริง ก็ไม่แนะนำหรอกนะ

ผู้คนตอนนี้จัดว่าไม่พลุกพล่าน ความรักทะลักทะล้นแบบในหนังจึงไม่โผล่มาให้เห็น พบแต่ความเหม่อมองรอคอยอันว่างเปล่า ตัดสินใจฟุ่มเฟือยตัวเองต่อไปด้วยกาแฟสตาร์บักส์ แก้วแรกในรอบหลายเดือน ไวท์ช็อกโกแลตม็อคค่าถูกหยิบยื่นมาด้วยความร้อนกำลังดีอย่างน่าประทับใจ จิบดื่มๆ แล้วนึกในใจว่าน่าจะสั่งแก้วใหญ่ สักครู่หนึ่งก็มีสาวเม็กซิกันมานั่งใกล้ๆอยู่ห่างๆ กลิ่นอาหารจานด่วนที่ผู้คนประณามว่าทำลายสุขภาพโชยออกมาอย่างน่ากวนใจ แต่ยามนี้ผมไม่สนใจเรื่องนั้นนัก นึกอยากเอากาแฟในมือที่เหลือเพียงหยดไปแลก แต่ผลลัพธ์อาจเจ็บตัวกลับมาได้ เลยนั่งสงบเสงี่ยมเจียมตัว รอเวลาโบยบินต่อไป

ช่วงเวลาแห่งเทศกาลเป็นโอกาสอันดี ให้เพลงหลายเพลงที่อัดอั้นมาทั้งปี ได้ทีเปิดเล่นวนเวียนกันทั้งวัน เสียงร้อง Jingle bell rock พาให้คอยครึกครื้นไม่ว่าจะเป็นใครร้อง ผิดกับ Last Christmas ที่ผมมักจะนึกถึงเวอร์ชันอันเจาะจง

เมฆบนฟ้าเริ่มไม่ค่อยทำงาน จึงได้ทีพระอาทิตย์ส่องแสงไร้ผู้บดบัง เหมือนกลุ่มคนจะแปรผันตามภาพแสง บรรยากาศในหนังจึงค่อยเปิดปรากฎ ยิ่งเวลาเดินพา สุขยิ้มเพลินตาจึงค่อยๆได้โอกาสโอบกอดผู้คน ถ้าตัวละครของมุราคามิเป็นผู้เอกอุในการบั่นทอนเวลาแล้ว ผมคงมิได้ห่างเชิงจากนั้นซักเท่าไร

ถึงเวลาลุกจากที่นั่งฝังตัวอันยาวนาน มือหนึ่งหอบหิ้วกระเป๋า เก็บอีกมือไว้โบกลาจากเมืองนี้แบบชั่วคราว ผ่านจุดตรวจเข้าไปนั่งจองที่วางแขนให้เพลินใจ ก่อนหลับตาฟังเสียง Erlend Øye วนเวียนกับหนึ่งเพลงจนปลายทาง

Once bitten and twice shy
I keep my distance
But you still catch my eye

.

Better late than never, Merry Christmas.


Seasonal Greetings

17 December 2006

Persepolis

สมัยก่อนเวลานัดเจอคนผมมักเลือกนัดพบในร้านแผ่นเพลง หรือไม่ก็ร้านหนังสือ ต่อมาโทรศัพท์ติดตามตัวแพร่หลาย สถานที่นัดเจอจึงเริ่มไม่มีความหมาย ร่วมไปกับนิสัยเสียที่แก้ไม่ค่อยหาย ที่มักจะไปสายอยู่เป็นประจำ จึงนับครั้งได้ที่จะมีโอกาสไปเตร็ดเตร่รอใครสักคน

ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปรอที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะอันใหญ่โต ณ สยามพารากอน ไปสะดุดตาหนังสือภาพหน้าตาน่าสนใจ ประกอบกับไปวางอยู่ในหมวดศาสนาที่เผอิญเดินผ่าน เลยหยิบขึ้นมาอ่านด้วยความสนใจใคร่รู้

อ่านไปอย่างเพลิดเพลิน แล้วก็ไม่ยอมซื้อ

เลยได้บทเรียนแบบน่าเขกกะโหลกในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อพบว่าเล่มแรกไม่มีแล้ว เหลือเพียงแต่เล่มสอง เลยจำใจซื้อมาเก็บไว้ก่อน จวบจนเดินไปเจอร้านหนังสือภาพที่ว่าคราวก่อน ถึงจะมีโอกาสได้อ่านเล่มแรกจนจบ ก่อนจะต่อเนื่องไปถึงเล่มสองจนได้

Persepolis: The Story of a Childhood Persepolis 2: The Story of a Return

Persepolis เป็นผลงานโดย Marjane Satrapi ซึ่งหยิบเอาเรื่องราวของตัวเธอ ตั้งแต่เด็กจนโตมาเล่าผ่านลายเส้นของเธอเอง ช่วยให้ทุกอย่างลื่นไหลเหมือนได้แฝงตัวอยู่ในเหตุการณ์จริง

เธอเป็นชาวอิหร่านที่ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี และมีการศึกษาที่ดี อิหร่านขณะนั้นยังปกครองด้วยระบบกษัตริย์ มี Mohammad Reza Pahlavi เป็นองค์ประมุขของประเทศ ซึ่งคนอิหร่านจะเรียกกษัตริย์ของตนเองว่าพระเจ้าชา (The Shah)

จวบจนการบริหารบางอย่างอันดูไม่ชอบธรรม นำไปสู่การประท้วงของผู้คน ประชาชนจึงพากันออกมาขับไล่ แม้จะมีความพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดบางอย่าง แต่ก็ไม่นับว่าจริงใจหรือถูกใจผู้คนนัก สุดท้ายทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลง (Iranian Revolution)

วันที่พระเจ้าชาถูกเนรเทศออกจากประเทศ ประชาชนอิหร่านต่างพากันออกมาฉลองชัยอย่างยิ่งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นเพียงภาพลวงตา ปัญหาหลายอย่างไม่ได้ถูกแก้ไข ขณะเดียวกันกลับเพิ่มปัญหาเข้าไปอีกมากมาย

ผลจากการปฎิวัติ คณะปกครองซึ่งขึ้นมาครองอำนาจ จึงออกนโยบาย กำจัดวัฒนธรรมตะวันตก จำกัดสิทธิสตรี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา และนโยบายคุมเข้มต่างๆอีกมากมาย

สุดท้ายขณะที่ Marjane Satrapi อายุได้ 14 ปี ครอบครัวของเธอก็ตัดสินใจส่งเธอไปเรียนต่อที่เวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ขณะที่ครอบครัวของเธอยังคงปักหลักอยู่ที่อิหร่านต่อไป แม้ว่าจะมีโอกาสอพยพมาด้วยกันก็ตาม (อันหลังนี้ผมเติมลงไปเอง)

แน่นอนว่าการใช้ชีวิตในสถานที่แห่งใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว ทุกอย่างที่นั่นค่อยๆเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นใกล้จบชีวิตอยู่ข้างถนน แต่แล้วโชคก็ยังเข้าข้างเธอบ้าง เธอจึงมีโอกาสได้กลับไปยังอิหร่าน และได้เรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย ก่อนจะมีโอกาสได้แต่งงานเหมือนดังผู้หญิงซักคน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเธอก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่านี่เป็นบ้านหลังเดิมอีกต่อไป

Persepolis: The Story of a Childhood จะเป็นเรื่องราวของเธอในช่วงนับตั้งแต่เธอเกิดจนเธอถูกส่งไปยังออสเตรีย ขณะที่ Persepolis 2: The Story of a Return จะเป็นเรื่องราวของเธอกับชีวิตสาหัสที่ออสเตรีย จนกลับมาว้าเหว่ต่อในบ้านเกิด

Sample graphics from Persepolis 1 & 2

นักวิจารณ์บางคนบอกว่าความโดดเด่นของหนังสือภาพเล่มนี้อยู่ที่เรื่องราวที่ถูกเล่าออกมา ซึ่งก็อาจจะไม่ผิด แต่ผมว่านั่นไม่ค่อยยุติธรรมซักเท่าไร

ขณะนี้เธอใช้ชีวิตอยู่ในปารีส ฝรั่งเศส เป็นนักวาดภาพที่มีผลงานออกมาหลายเล่ม ขณะที่เขียนนี่ก็เพิ่งรู้ว่า Persepolis จะถูกทำออกมาเป็นภาพยนตร์อนิเมชันซึ่งมีกำหนดออกฉายในปี 2007

เธอพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นี่นับเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เพราะตั้งแต่เธอโตขึ้นมา เธอเลือกที่จะทำงานคนเดียวอย่างมีอิสระเสรีมิต้องสนใจใยดีใคร แต่ตอนนี้เธอกำลังทำลายความสวยงามอันนั้นด้วยการทำภาพยนตร์อนิเมชันจากหนังสือของเธอ อันหมายความว่าเธอจะต้องทำงานร่วมกับคนมากกว่าแปดสิบคนทุกวัน!

แล้วจะรอคอยผลงานจากความทรมานอย่างใจจดใจจ่อ

16 December 2006

Put The Book Back On The Shelf

เพราะมีคนพูดถึง เลยถือโอกาสหยิบมาเขียน

ย้อนอดีตไปไม่นาน กิจกรรมช่วงหนึ่งสมัยกำลังปรับแรงดึงดูด เป็นการเดินเท้าผสมนั่งราง มองทิวทัศน์รอบข้าง พาหลงทางไปเนืองๆ แม้ตึกจะหน้าตาเชยๆ ร้านค้าไม่ค่อยน่ามอง แต่ทางเดินกว้างขวาง กับอากาศที่เหมาะสม กิจกรรมเดินเีรื่อยเปื่อยจึงถูกจัดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่อย่าหวังว่าจะจำเส้นทางอะไรได้ เพราะทำเพียงแต่เดินจริงๆ จนบางครั้งนึกอยากหยุดพัก แต่สถานที่กลับไม่อำนวยนัก ทางออกที่เหลือจึงมีเพียงแต่เดิน เดิน เดิน

จนได้มาเจอร้านหนังสือภาพร้านหนึ่ง ท่าทางคงขลัง เลยไม่คิดรีรอที่จะแวะพักกันเสียหน่อย หนังสือภาพหลากชนิด รวมไปถึงหนังสืออาร์ทหน้าตาแปลกๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย หนังสือการ์ตูนแปลจากญี่ปุ่น รูปเล่มงดงามวางเรียงสวยงามสมกับรูปเล่ม และราคาที่ต่างจากที่เคยซื้อลิบลับ นึกอยากอวดกันกลางร้านว่าทั้งชั้นนั้นน่ะเคยอ่านมาหมดแล้ว แต่คงจะขำเกินไปหน่อย

เดินเข้ามาจนถึงด้านใน เจอหนังสือภาพหน้าปกสะดุดตา แต่ตื่นเต้นยิ่งกว่าตอนสังเกตชื่อเรื่อง Put The Book Back On The Shelf กับชื่อกำกับที่มุมขวาล่างว่า a Belle & Sebastian anthology

Put The Book Back On The Shelf

แล้วเพลงต่างๆของ Belle & Sebastian ก็ถูกตีความออกมาเป็นภาพและเนื้อเรื่อง อ่านคลอไปพร้อมกับเพลง เลยได้เป็นประสบการณ์ครั้งใหม่ให้ลื่นไหลเพลิดเพลิน แต่มีติดขัดไปบ้างกับบางตอน ที่คนวาดเลือกจะใส่เรื่องตามใจตัวเอง แต่การตีความเนื้อเพลงก็ำไม่ได้มีตายตัวอยู่แล้ว ขณะที่บางตอนอย่าง Dog on wheel ก็เลือกที่จะแนบแน่นเสียสนิทใจ

ถ้าถูกบังคับให้เลือกเพลงที่ชอบคงยากลำบากเกินไป แต่ถ้าถูกบังคับให้เลือกตอนที่ชอบจากในหนังสือ คงขอเลือกตอนที่ฟังพร้อมกับเพลงไปได้แบบไม่ติดขัดอย่าง

Get me away from here I'm dying กับสีเส้นสวยถูกใจ คลอไปกับความเหงาที่โบยบิน
You made me forget my dreams กับความฝันและความเศร้า
Asleep on a sunbeam กับความเรียบง่ายน่าีีรักที่คาดหวัง
If you find yourself caught in love ที่โฆษณาตัวเองในเนื้อเรื่องได้น่ารักจนคิดเอาอย่าง

และตอนดีดีที่ชอบอีกหลายตอนที่ขอละไว้


รายชื่อเพลง และผู้วาดเรียงลำดับได้ตามนี้
  1. The State I'm In by Rick Spears & Rob G.
  2. Expectations by Chris Butcher, Kalman Andrasofszky & Ramon Perez
  3. I Could be Dreaming by Andi Watson
  4. We Rule the School by Mark Smith & Paul Maybury
  5. Me and the Major by Tom Hart
  6. Fox in the Snow by Jacob Magraw
  7. Get Me Away from Here, I'm Dying by Catia Chen
  8. Dog on Wheels by Kako
  9. Lazy Line Painter Jane by Janet Harvey & Laurenn McCubbin
  10. You Made Me Forget My Dreams by Matthew S. Armstrong
  11. Beautiful by Charles Brownstein & Dave Crosland
  12. Ease Your Feet into the Sea by Bruno D'Angelo
  13. The Model by Jennifer de Guzman & Brian Belew
  14. The Chalet Lines by Erin Laing & Matt Forsythe
  15. Nice Day for a Sulk by Rick Remender & John Heebink
  16. There's Too Much Love by Leela Corman
  17. Legal Man by Joey Weiser
  18. Marx & Engels by Jamie S. Rich & Marc Ellerby
  19. Step into My Office, Baby by Ian Carney & Jonathan Edwards
  20. Dear Catastrophe Waitress by Mark Ricketts & Leanne Buckley
  21. Piazza, New York Catcher by David Lasky
  22. If She Wants Me by Ande Parks & Chris Samnee
  23. Asleep on a Sunbeam by Nicholas Bannister
  24. If You Find Yourself Caught in Love by Steven Griffin


อ่านจบแล้วก็นึกถึง Mornington Crescent

อันนี้่ก็ไม่เลวนะ หึหึ